- การตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส รวมระยะตั้งครรภ์ทั้งสิ้น 9 เดือน (40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน) ซึ่งในแต่ละไตรมาสมีความเสี่ยงของการตั้งครรภ์แตกต่างกัน
- ในช่วงสามเดือนแรก หรือ ท้องไตรมาสแรก คุณแม่ส่วนใหญ่มักคลื่นไส้ อาเจียน และรับประทานอาหารไม่ได้ ทารกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารบำรุงสมองอย่างเพียงพอ คุณแม่เกิดภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่และวิตามิน หากมีอาการแพ้ท้องมากควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
- ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดถือเป็นอันตรายที่สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุครรภ์ และมีความเสี่ยงต่อชีวิตของทารกในครรภ์และคุณแม่อย่างมาก หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ทันที
การตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก หมายถึง ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยทางการแพทย์แบ่งการตั้งครรภ์ออกเป็น 3 ไตรมาส รวมระยะตั้งครรภ์ทั้งสิ้น 9 เดือน (40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน) ทั้งนี้คุณแม่อาจตั้งครรภ์นานถึง 42 สัปดาห์หรือ 294 วัน ซึ่งในแต่ละไตรมาสมีความเสี่ยงของการตั้งครรภ์แตกต่างกัน
การเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกช่วงไตรมาสแรก
การนับอายุครรภ์ของคุณแม่ เริ่มตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยแบ่งการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้เป็นการเจริญเติบโตทางโครงสร้าง และการพัฒนาการเกี่ยวกับระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย
- อายุครรภ์ 5-6 สัปดาห์ มีพัฒนาการของระบบประสาทส่วนกลางและไขสันหลัง
- อายุครรภ์ 8-12 สัปดาห์ ทารกมีขนาดยาว 5 ซม. หัวโต แขนขาพัฒนาขึ้นเห็นอย่างชัดเจน หัวใจเริ่มเต้นเป็นจังหวะ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก
คือ กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม อาหาร และการปฏิบัติตนของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์
กรรมพันธุ์ ยีน (Gene) และโรคทางกรรมพันธุ์ในครอบครัวมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก ทำให้ทารกในครรภ์เกิดความเสี่ยง โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีประวัติการคลอดดังนี้
- เคยมีภาวะลูกเสียชีวิตในครรภ์ ระหว่างคลอดหรือหลังคลอด รวมถึงเคยแท้งบุตรมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง
- ทารกคลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์)
- พบมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
สิ่งแวดล้อม นับเป็นปัจจัยที่มักถูกมองข้าม เนื่องจากเป็นสภาวะแวดล้อมที่คุณพ่อคุณแม่เคยชิน เช่น สารพิษภายในบ้านจากน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาอื่นๆ ที่ปนเปื้อนสารเคมี รวมถึงการสูบบุหรี่ภายในบ้าน
สิ่งแวดล้อมยังหมายถึงสิ่งแวดล้อมในครรภ์ คือถุงน้ำคร่ำ น้ำคร่ำ รก และมดลูก ซึ่งต้องมีความแข็งแรงสมบูรณ์ รวมถึงการรับประทานยาของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายต่อทารก ห้ามรับประทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์โดยเด็ดขาด
อาหารขณะตั้งครรภ์
ภาวะโภชนาการกับอาหารของมารดาตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีความหลากหลาย ปริมาณพอเหมาะ และมีความสมดุล โดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ 1-3 เดือนแรก คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง ซึ่งมีความจำเป็นกับทารกเพื่อใช้ในการสร้างอวัยวะต่างๆ และสร้างเซลล์สมอง
อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
สำหรับอาหารที่ควรงดและหลีกเลี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก คืออาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส อาหารรสจัด โดยเฉพาะหวานจัด อาหารไขมันสูง ทั้งนี้ยังควรงดการดื่มชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ด้วย
อาหารที่ควรรับประทานเพิ่มขึ้น ได้แก่
- โปรตีน ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่หลากหลาย เน้นโปรตีนจากปลา เต้าหู้ ไข่ และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว
- วิตามิน การเพิ่มวิตามินจากอาหารจะช่วยให้ร่างกายคุณแม่มีความสมดุลและเพิ่มความแข็งแรง รวมถึงเสริมสร้างพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ สำหรับการรับประทานวิตามินเสริมควรปรึกษาแพทย์ อาทิ วิตามินเอ บี ซี ดี อี เค รวมถึงคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์เพิ่ม
- แร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงทั้งของคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เนื้อแดง ไข่แดง และนม คุณแม่ส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องรับประทานจากยาเม็ดธาตุเหล็กเพิ่ม เนื่องจากการรับประทานอาหารอย่างเดียวไม่เพียงพอ
- โฟเลต มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมองและระบบประสาท หากทารกขาดโฟเลตอาจเกิดภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด หรือไขสันหลังไม่ปิด และแนะนำให้รับประทานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน โฟเลตมีมากในผักใบเขียว ถั่วเหลือง ส้ม กล้วย และนมเสริมโฟเลต
- แคลเซียม จำเป็นในการพัฒนาการสร้างกระดูกและฟัน ซึ่งรับประทานได้จากนม และอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กระดูกอ่อน ปลาเล็กปลาน้อย รวมถึงการรับประทานยาเม็ดแคลเซียม
- น้ำ ช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่มีความต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ จึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาอาการท้องผูก และป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก
อาหารที่ควรรับประทานลดลง
- คาร์โบไฮเดรต ด้วยการลดอาหารพวกแป้ง ข้าว เผือก มัน และหลีกเลี่ยงอาหารหวาน โดยเฉพาะผลไม้รสหวาน เช่น ทุเรียน รวมถึงน้ำอ้อย น้ำตาลสด น้ำมะพร้าว และน้ำอัดลม เพราะนอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
- กรดไขมัน (Fatty acid) เกิดจากการย่อยสลายของไขมันชนิดต่างๆ มี 2 ชนิด คือ กรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งคุณแม่ควรรับประทานให้น้อยลง เนื่องจากเป็นสาเหตุของไขมันอุดตันในหลอดเลือด พบมากในไขมันสัตว์ น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลือกดื่มนมที่มีไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน
สำหรับกรดไขมันไม่อิ่มตัวช่วยให้มีพลังงาน และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ที่สำคัญคือมีประโยชน์ต่อพัฒนาการของสมองลูกน้อยในครรภ์ ได้แก่ กรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 ซึ่งจัดเป็นกรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) ซึ่งร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น รับประทานอาหารที่มีกรดโอเมก้า 3 ได้จากปลาทะเล และสาหร่ายทะเล ส่วนอาหารที่มีกรดโอเมก้า 6 ได้แก่ น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเม็ดทานตะวัน และน้ำมันข้าวโพด
นอกจากนี้ DHA (ดีเอชเอ)&ARA (เออาร์เอ) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวสายโซ่ยาว มีความสำคัญต่อการพัฒนาเซลล์สมองและเซลล์ที่จอตาของดวงตาของลูกน้อยในครรภ์
กรดไขมันโอเมก้า 9 มีความสำคัญต่อการพัฒนาของเส้นใยในการรับส่งสัญญาณของเซลล์สมอง (Axon และ Dendrite) และปลอกหุ้มเส้นใย พบมากในอาหารประเภท ไขมันเนย น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันหมู และน้ำมันมะกอก
การปฏิบัติตนที่ดีของแม่ ท้องไตรมาสแรก
- นอกจากการเรียนรู้และรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
- หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว / วัน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
- งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ไม่ควรใช้ยารับประทานเอง
- ทั้งนี้คุณแม่ยังควรดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายเป็นประจำ ระวังการใช้สารเคมี เช่น น้ำยาย้อมผม การใช้เครื่องสำอาง และน้ำหอม
- อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยในขณะตั้งครรภ์ โดยไม่ควรให้มีแรงกระแทกบริเวณท้องมากเกินไป
การปฏิบัติตัวที่น่าจะเป็นผลดี ต่อการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก
การที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีอารมณ์ดีอยู่เสมอจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยคุณแม่อาจฟังเพลงที่ตนเองชอบเสมอๆ นอกจากนี้การแบ่งปันเพลงเพราะๆ ให้เด็กน้อยในครรภ์จะช่วยให้มีการพัฒนาเรื่องการพูดและการฟังที่ดี สามารถทำได้ด้วยการใช้เสียงเพลงแนบหน้าท้อง เปิดเพลงไพเราะ ฟังสบายอย่างน้อยวันละ 10 นาที
ความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังในไตรมาสแรก
- อาการแพ้ท้อง คุณแม่ส่วนใหญ่มักแพ้ท้องอย่างหนักในช่วงไตรมาสแรก คลื่นไส้ อาเจียน และรับประทานอาหารไม่ได้ หากคุณแม่ละเลยการรับประทานอาหาร อาจเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่จำเป็นทั้งในทารกและตัวคุณแม่เอง ส่งผลให้ทารกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารบำรุงสมองอย่างเพียงพอ ส่วนคุณแม่เกิดภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่และวิตามิน หากมีอาการแพ้ท้องมากควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
- เลือดออกทางช่องคลอด ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดมีความเสี่ยงต่อชีวิตของทารกในครรภ์และคุณแม่อย่างมาก ถือเป็นอันตรายที่สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุครรภ์ จึงควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
- ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง แม้คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดท้องน้อยเป็นปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อมดลูกมีการขยายตัวเพื่อรองรับตัวอ่อนในครรภ์ แต่หากอาการปวดมากขึ้นจนผิดสังเกต หรือปวดติดต่อกันยาวนาน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ทั้งนี้ภาวะเสี่ยงในไตรมาสแรกยังขึ้นกับโรคประจำตัวของคุณแม่ อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โลหิตจาง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น นอกจากนี้อายุของมารดาขณะตั้งครรภ์ก็มีผลต่อความเสี่ยงเช่นกัน โดยคุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 40 ปี ควรปรึกษาแพทย์และตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
ท้องไตรมาสแรก กับการตรวจคัดกรองครรภ์เสี่ยง
การเอาใจใส่ดูแลคุณแม่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ถือเป็นสิ่งจำเป็น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเบาๆ สม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่วิตกกังวลจนเกินไป แต่ก็ไม่ละเลยอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่มองว่าเป็นเรื่องปกติ โดยการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ตรวจคัดกรองความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษในช่วง 3 เดือนแรก สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้สูงถึง 90 % และสามารถป้องกันการเกิดครรภ์พิษได้ 70% ที่สำคัญคุณแม่ตั้งครรภ์ควรมาพบแพทย์ตามนัด ปรึกษาแพทย์หากมีอาการผิดปกติ ไม่ซื้อยารับประทานเอง เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์