ยาขับประจำเดือน ยาขับเลือด (Haemagogue)

ยาขับประจำเดือนหมายความว่าอย่างไร?

ยาขับประจำเดือน ความหมายทางการแพทย์ และทางเภสัชกรรม คือ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ แล้ว ประจำเดือนไม่มาตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากมีการตั้งครรภ์ได้ สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อขาดประจำ เดือนหลังมีเพศสัมพันธ์ คือ ควรตรวจว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในเกร็ดสุขภาพ เรื่อง การตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์) ซึ่งถ้ามีการตั้งครรภ์ การทำให้มีประจำเดือนมา ไม่ว่าจะวิธีการใด ก็คือ “การขับประจำเดือน” หรือการทำแท้ง นั่นเอง

ยาที่ใช้ขับประจำเดือน เรียกว่า “ยาขับประจำเดือน” ปัจจุบันชนิดรับประทานคือ ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และยาชนิดสอด

ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอย่างไร?

ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคือ จะมีผลต่อการสร้างเยื่อผนังมดลูกและต่อมต่างๆในอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ควบคู่ไปกับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone)

หากมีฮอร์โมนทั้งสองในอัตราส่วนที่ไม่สมดุลแล้ว หรือให้เอสโตรเจนอย่างเดียว ก็อาจทำให้ผนังบุมดลูกฉีกขาดบ้าง ทำให้เลือดออกคล้ายมีประจำเดือนได้

สมมุติว่าได้เกิดมีการตั้งครรภ์ขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงแรก หรือช่วงหลังของการตั้งครรภ์ก็ตาม การให้เอสโตรเจน อาจทำให้เลือดออกเหมือนมีประจำเดือนดังกล่าว แต่มิได้หมายความว่าทารกในครรภ์จะถูกขับออกมาได้ทุกกรณี

และเมื่อเป็นเช่นนี้ ฤทธิ์ดังกล่าวของเอสโตรเจน อาจมีผลทำให้ทารกตายในครรภ์โดยไม่รู้ ตัวได้ แต่ถ้าทารกนั้นไม่ตาย ก็อาจจะมีผล เมื่อทารกนั้นคลอดออกมา คือมีอาการทุพพลภาพ และเป็นมะเร็งในช่วงวัยเด็กหรือเมื่อเป็นผู้ใหญ่ต่อไปได้

การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นยาขับประจำเดือน ควรใช้หรือไม่?

ยานี้ไม่ควรใช้ เนื่องจากการให้ยาเอสโตรเจนจำนวนมากๆ ติดต่อกันหลายๆวัน อาจจะสามารถขับประจำเดือนและทารกในระยะเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆได้

แต่การที่จะได้ผลเช่นนี้ ฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง ของเอสโตรเจนจะปรากฏออกมาให้เห็นชัดก่อนแล้ว เช่น

  • ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง จากการเกิดลิ่มเลือด)
  • ต่อการประสานงานของระบบฮอร์โมนอื่นๆ (เช่น ก่ออาการบวม)
  • ต่อระบบเลือด คือทำให้เลือดแข็งตัวขึ้นในหลอดเลือด
  • ต่อการทำงานของตับ (เช่น ตับอักเสบ)
  • ต่อระบบหัวใจ และความดันเลือด/ความดันโลหิตที่อาจจะสูงขึ้นจนเป็นอันตราย

ฉะนั้นการใช้ยานี้ จึงต้องพิจารณาถึงปริมาณของยา และระยะเวลาที่จะใช้จากแพทย์ และยังต้องจำเป็นตรวจภายในผู้ใช้ยา เพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่า ได้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นแล้วหรือไม่ และถ้ามีการตั้งครรภ์จริง ครรภ์นั้นได้อยู่ในสภาพใดหลังจากใช้ยานี้

ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอ ที่ชี้ให้เห็นว่า ไม่เป็นการเหมาะสมและยากมากที่จะใช้ยานี้ด้วยตนเอง โดยที่เราไม่มีความรู้ในเรื่องยานี้พอ และไม่สามารถตรวจรักษาตนเองให้ถูก ต้องได้

ฉะนั้นการซื้อยาสูตรเป็นชุดๆ ที่จัดขายให้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการขับประจำเดือนด้วยตนเอง จึงเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงมีอันตรายมากกว่าที่จะได้ประโยชน์ดังที่คิดไว้

ยาขับประจำเดือนชนิดสอด

ปัจจุบัน มียาขับประจำเดือน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง การใช้ยายุติการตั้งครรภ์) อีกประเภทคือ ยาขับประจำเดือนชนิดสอด ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ

  • ยาสอด ไซโตเทค (Cytotec) มีตัวยา ไมโซพรอสทอล (Misoprostol)
  • ยาสอด อาร์ยู 486 (RU 486) มีตัวยา คือ ไมเฟพริสโตน/มิฟิพริสโตน (Mifepristone)

ทั้งนี้ ทางการแพทย์ การทำแท้งที่ปลอดภัยที่สุด คือใช้ยาโดยแพทย์และในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งยาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรเป็นการใช้ยาร่วมกันทั้งสองชนิดข้างต้น

การใช้ยาขับประจำเดือนนั้น กรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ควรไปพบแพทย์/ควรปรึกษาแพทย์ (สูตินรีแพทย์) ได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี (อายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์) เพราะทำให้การขับประจำเดือนทำได้ง่าย และเกิดผลข้างเคียงน้อย

สรุป

  • การใช้ยาขับประจำเดือน จำเป็นต้องทำโดยแพทย์ และเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมในเว็บ ในบทความเรื่อง การใช้ยายุติการตั้งครรภ์
  • วิธีป้องกันการใช้ยาขับประจำเดือน ที่ดีที่สุด คือ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการรู้จัก การวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด และการใช้ถุงยางอนามัยชาย (ในผู้ชาย)